สร้างแรงจูงใจอย่างไรในช่วง WFH

Last updated: 9 เม.ย 2563  | 

สร้างแรงจูงใจอย่างไรในช่วง WFH

Work from home คือการทำงานจากที่บ้าน เป็น New Normal คือความปกติใหม่ของการทำงานในช่วงวิกฤติโควิด ถึงแม้จะมีหลายองค์กรที่ทำกันมานานแล้ว แต่ก็ยังมีบางแห่งที่เป็นมือใหม่ไม่แน่ใจว่าแล้วจะบริหารจัดการผลงานได้อย่างไร หัวหน้าจะโค้ชชิ่งลูกน้องได้อย่างไร พูดง่ายๆคือจะแน่ใจได้อย่างไรว่าบุคลากรยังทำงานอย่างกระตือรือร้นและขยันขันแข็งเหมือนกับมาทำงานที่ออฟฟิศ

เรื่องแรกที่อยากเล่าในซีรีย์ WFH คือ เทคนิคในการสร้างแรงจูงใจ เมื่อต้องทำงานกันคนละที่

การสร้างแรงจูงใจ

โดยธรรมชาติตามหลัก Pattern Scanner รูปแบบความคิด รูปแบบพฤติกรรม คนมีแรงจูงใจ 2 ประเภท แบบแรกคือเมื่อรู้เป้าหมาย เขาก็สามารถพุ่งไปข้างหน้าเพื่อวิ่งไปสู่เป้าหมายได้ แต่คนอีกประเภทคือเมื่อรู้เป้าหมาย เขาก็จะมองหาหนทางที่ไม่มีอุปสรรคเพื่อที่จะไปถึงเป้าหมายอย่างปลอดภัย ดังนั้นวิธีคิด การกระทำ และความเร็วก็ไม่เหมือนกัน การรับสารของคนทั้งสองแบบจึงไม่เหมือนกัน

คนกลุ่ม Towards 

คนกลุ่มนี้ เขาต้องการบรรลุเป้าหมายในสิ่งที่เขาตั้งใจไว้ เขาทุ่มเทพลังงานไปที่การทำให้เรื่องนี้สำเร็จให้ได้ ดังนั้นเขาเป็นกลุ่มคนที่จัดลำดับความสำคัญในการลงมือทำได้ดี ให้ความสำคัญกับการลงมือทำเพื่อเป้าหมายนั้น

ถ้าไม่มีเป้าหมาย เขาก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ไม่มีแรงจูงใจในการลงมือทำ

เมื่อเขาจดจ่ออยู่กับการทำให้สำเร็จให้ได้ เขาจึงไม่ได้ระวังว่าอะไรคืออุปสรรค ปัญหา หรืออะไรคือข้อควรระวัง วิธีการทำงานของเขาจะรวดเร็ว พุ่งไปข้างหน้า บางครั้งก็อาจจะมีวิธีแปลกๆที่คนอื่นอาจจะคิดไม่ถึง

ดังนั้นการโค้ชชิ่งให้คนกลุ่ม Towards ทำงานจากบ้านได้ คือ การสื่อสารให้ถูกจริต เช่น

“เป้าหมายของโครงการนี้คือ abc และเพื่อให้เราบรรลุเป้าหมายตามกำหนดการนี้ สิ่งที่พี่อยากให้คุณทำคือ xyz”

สำหรับคนที่ทำ OKR อยู่แล้ว เราอาจจะพูดว่า “เรื่องนี้จะนำเราไปสู่ KR2 ของ Oแรกของไตรมาสนี้ ซึ่งเป็นเป้าหมายใหญ่ของพวกเราทุกคน”

หรืออาจจะใช้คำถามก็ได้ว่า “คุณคิดว่าจะทำอะไรบ้างเพื่อให้เรื่องนี้เสร็จทันเวลาที่เราตกลงกัน”

ตัวอย่างประโยคคำพูดเหล่านี้อาจจะดูธรรมดาในสายตาของหลายคน ฟังดูแล้วก็เป็นการสื่อสารทั่วไปของหัวหน้ากับลูกน้อง แต่ตามสถิติเราจะพบว่ามีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่คำพูดเหล่านี้ไม่ได้เข้าไปในความคิดของเขาเลย เขาไม่ได้ลงมือทำด้วยคำพูดเหล่านี้พูดง่ายๆก็คือประโยคคำพูดเหล่านี้ไม่ได้เข้าไปในความคิดเขา เขาก็เลยไม่ได้ลงมือทำ

คนกลุ่ม Away From  

เป็นคนกลุ่มตรงกันข้ามกับกลุ่มข้างต้น โดยธรรมชาติเขาต้องการหลีกหนีความผิดพลาด เขาไม่อยากพลาดเป้าหมาย เขาแค่ต้องการให้แน่ใจว่าวิธีการลงมือทำที่เขาเลือกจะไม่มีอุปสรรคใดๆในการบรรลุเป้าหมาย แรงจูงใจที่สำคัญคือการขจัดปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ทำให้เขาโฟกัสอยู่กับเป้าหมายยาก

การที่เขาพยามหาวิธีการที่ราบรื่นที่สุดในการลงมือทำ ทำให้เขามีความรอบคอบ ประเมินอย่างถี่ถ้วนว่าอะไรที่จะเป็นอุปสรรค อะไรเป็นข้อจำกัด คนที่ไม่เข้าใจรูปแบบความคิดของเขาก็อาจจะคิดว่าเขาคิดมาก อะไรก็ยากไปเสียหมด

ดังนั้นการโค้ชชิ่งให้คนกลุ่ม Away From ทำงานจากบ้านได้ คือ การสื่อสารให้ถูกจริต เช่น

“พี่อยากให้คุณดูว่าปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้คืออะไรบ้าง แล้วบอกพี่ด้วยว่าคุณวางแผนจะทำอย่างไรเพื่อให้งานนี้สำเร็จทันเวลาโดยไม่โดนตำหนิจากผู้บริหาร”

“คุณช่วยพี่คิดหน่อยสิว่า พวกเราจะร่วมกันทำงานแบ WFH อย่างไรให้ไม่น่าเบื่อ”ไ

หรืออาจจะมอบหมายไปเลยว่า “เพื่อให้คนอื่นไม่ตำหนิเรื่อง abc  พี่คิดว่าคุณควรจะทำ xyz เพื่องานคุณทันกำหนดการ”

จะเห็นว่าคำพูดคนของกลุ่มนี้จะแตกต่างออกไป เราจูงใจเขาเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ให้ปราศจากอุปสรรค และเกิดการลงมือทำ

การโค้ชชิ่งเพื่อสร้างแรงจูงใจ

ก่อนที่จะสื่อสารใดๆออกไป ให้สังเกตก่อนว่าลูกน้องเราเป็นคนกลุ่มใด เขาน่าจะเป็น Towards พุ่งเข้าใส่ หรือกลุ่ม Away From ที่หาเส้นทางที่ไม่มีอุปสรรค แล้วใช้ตัวอย่างการสื่อสารที่ยกมานี้ ก็จะทำให้ผู้บริหารสามารถจูงใจคนได้ครบทั้ง 2 กลุ่ม ทั้งกลุ่มที่ต้องมีเป้าหมายและมุ่งหน้าลงมือทำ และกลุ่มที่ไม่ต้องการความผิดพลาด มีความรอบคอบ ได้ลงมือทำอย่างเต็มที่ถึงแม้ว่าจะเป็นการทำงานมาจากที่บ้านก็ตาม

===== 

ดร.ดไนยา ตั้งอุทัยสุข ผู้แต่งหนังสือ สื่อสารให้ได้ใจ ไขความลับสมองคน

===== 

ติดตาม อัพเดตแนวคิด ฟัง อ่าน ประสบการณ์ด้านการพัฒนาผู้นำ การโค้ช และการใช้ Pattern Scanner
ได้ทั้งทาง Podcast, YouTube, Website, Social Media ดังนี้ค่ะ


Podbean: https://bit.ly/3aoN1kz
.
Spotify: https://spoti.fi/3bvmXo2
.
Youtube: https://bit.ly/3alFkvi
.
Facebook fanpage : https://www.facebook.com/ExcellenceResources/
.
Website: https://www.excellenceresources.com/
.
Website: https://www.thepatternscanner.com/
.
Line@ExcellenceResource https://lin.ee/liqAIck
 

Powered by MakeWebEasy.com